เทใจดอทคอม ชุมชนแห่งการให้แค่ปลายนิ้วมือ taejai.com

‘การให้’เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่คน สังคม และโลกสามารถหยิบมาใช้ได้แบบไม่มีวันหมดสิ้น การให้มีอยู่อย่างเหลือเฟือและมากพอที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ

การเดินทางตลอด2 ปีที่ผ่านมาของ ‘เทใจดอทคอม’ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ ‘การให้’ ที่เชื่อมโยงหลากเครือข่ายในการช่วยเหลือและส่งเสริมสังคมด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นดำเนินการโดยเครือข่ายร่วมก่อตั้ง อันได้แก่ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ,Ashoka Thailand, Thai Young Philautropists Network (TYPN), Opendream และสถาบันChange Fusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.)

ว่าด้วยเรื่อง 2 ผู้ให้กับกุญแจสำคัญของ ‘Crowd Funding’

     สิรินาถ ต่อวิริยะเลิศชัย หรือ ‘พี่เจี๊ยบ’ ที่ปรึกษาโครงการเทใจดอทคอมบอกเล่าถึงจุดประสงค์และที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “เราอยากสร้างพื้นที่ดีๆ ให้กลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดีๆเพื่อสังคม สามารถทำสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไว้ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงและขยายผลต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน”โดยเทใจดอทคอมจะทำหน้าที่เป็น platform ในการช่วยสร้างเครือข่ายสังคมคุณภาพ ผ่านรูปแบบCrowd Funding หรือการระดมทุนสาธารณะ เมื่อมีการระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ต ตัวเว็บไซต์ซึ่งทำงานเป็น‘ตัวกลาง’ ที่ซื่อสัตย์และโปร่งใส จะถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย ‘2 ผู้ให้’ ที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกิดชุมชนคุณภาพขึ้น

     ผู้ให้ฝ่ายแรกคือ‘กลุ่มนักคิด’ ที่มีไอเดีย โดยพวกเขาจะแพคคู่มาพร้อมความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาและปรับเปลี่ยนสังคมด้วยการนำเสนอโครงการหรือกิจกรรมต่างๆแต่กว่าที่แต่ละโครงการจะมาถึงจุดที่สามารถขอระดมทุนได้นั้น ทั้งทีมงานเทใจดอทคอมและกลุ่มนักคิดจะต้องผ่านกระบวนการ‘ระดมสมอง’ กันอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่การหาวิธีเยียวยาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของโครงการตลอดจนหาแสวงหาวิธีการสื่อสารให้คนหมู่มากเข้าใจถึงจุดประสงค์และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้โดยแต่ละโครงการจะต้องผ่าน 4 มาตรฐานของเทใจดอทคอมกันเสียก่อน ได้แก่

     สร้างสรรค์กับการนำเสนอหนทางแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมความคิดที่สามารถดำเนินไปอย่างยั่งยืน

     สร้างประโยชน์ทั้งต่อผู้คนและสังคมอย่างชัดเจน

     สร้างได้จริงตัวโครงการต้องมีศักยภาพ และความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด

     ทุกโครงการจะต้องสามารถระบุตัวตนผู้คิดและวัดผลได้จริง เพื่อให้ผู้บริจาคเชื่อมั่นได้ว่าทุกการสนับสนุนของพวกเขาจะถึงมือผู้รับและเกิดประโยชน์นำไปสู่การ ‘สร้างวัฒนธรรมการให้ที่สามารถตรวจสอบได้’ ในที่สุด

     ส่วนผู้ให้ฝ่ายที่สองคือ‘ภาคประชาชนทั่วไป’ ที่สนใจและอยากสนับสนุนกลุ่มคนทำงาน โดยพวกเขาสามารถแบ่งปันการให้ในรูปแบบของเงินทุนและทักษะหรือความถนัดในบทบาทของอาสาสมัคร และเมื่อการระดมทุนถึงเป้าหมาย โครงการนั้นๆ ก็สามารถดำเนินต่อไปได้

จาก ‘การให้’ สู่ ‘แรงบันดาลใจ’

กว่า900 วัน ของการแบ่งปันน้ำใจ กับจำนวนสมาชิก 9,682 คน และผู้บริจาค 2,423 คน เทใจดอทคอมสามารถระดมทุนได้กว่า7 ล้านบาท ซึ่งนั่นมีผลโดยตรงต่อการผลักดัน 81 โครงการให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ว่าจะเป็น โครงการหมวกกัน (หัวหนู) น็อค, ช่วยชีวิตช้างไทย ซารางเฮโย, เหลียวหลังแลหน้า เพื่อดวงตาสดใสของผู้สูงวัย, เล่นเส้น อุปกรณ์สอนน้องตาบอดให้วาดรูปได้, เก้าอี้๑4๑ ประคองรัก สำหรับเด็กน้อยพิการซ้ำซ้อน, วีลแชร์เพื่อสุนัขพิการ, แผนที่รถเมล์เพื่อคนพิการ,สาระดีชุมนุม บันทึกประวัติศาสตร์สังคม, กองทุนผู้พิทักษ์ป่า (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)เพื่อคนข้างหลัง ฯลฯ และอีกหลายการแบ่งปันดีๆ ที่รอการสนับสนุนอยู่ ณ ขณะนี้

     ใครหลายคนอาจวัดค่าความสำเร็จจากตัวเลขชื่อเสียง หรือการยอมรับจากสังคม แต่สำหรับพื้นที่แห่งนี้แล้ว ความสำเร็จของพวกเขาไม่ใช่แค่เพียงสร้างโอกาสกำลังใจ และปลุกแรงบันดาลใจ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้คนให้ดีกว่าที่เคยเป็นเท่านั้นแต่คือการได้เห็นพัฒนาการและการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของสังคมแบบองค์รวมผ่านกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะเดียวกัน ทุกนาทีที่ผ่านไปกับเรื่องราวการทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา ได้เปลี่ยนมุมมองและความคิดของทั้งกลุ่มนักคิดผู้สนับสนุน รวมถึงทีมงานเทใจดอทคอมให้เข้าใจคำว่า ‘ให้’ ต่างไปจากเดิม พวกเขาทำให้เราเห็นถึงสายใยแห่งการให้ที่ต่อเนื่องและไร้ข้อแม้ซึ่งก่อตัวกลายเป็นกระแสแห่งความดีที่จะนำไปสู่เป็นต้นทางแห่งความสุข

     พี่เจี๊ยบทิ้งท้ายบทสนทนาในเช้าวันนั้นไว้ว่า“บางอย่างเราอย่าพยายามมองว่ามันเป็นปัญหาที่คนอื่นต้องเข้ามาแก้ไขอย่างเดียว เราอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเราไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา แต่จริงๆ แล้วพวกเราเองนี่แหละที่สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างได้เช่นกันพี่อยากจะบอกว่าสังคมไทยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เราอยู่ร่วมกันทุกอย่างจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ต้องอาศัยทุกแรงกำลังในการแก้ไขและผลักดัน เราบ่นได้ไม่ผิด พี่ก็บ่น ใครๆ ก็บ่น เพียงแต่ว่าถ้าเราบ่นเสร็จแล้ว ลองมาช่วยกันลงมือทำด้วยมันอาจจะเสียทั้งเหงื่อ เปลืองทั้งน้ำลาย  แต่ชีวิตจะสดใสขึ้นมาก และแม้ในท้ายที่สุดผลลัพธ์จะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำ และทำมันอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว”

เรื่อง สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ เกตน์สิรี วงศ์วาร, taejai.com