#มือเย็นเมืองเย็น – ชวนคนมือเย็น ร่วมสร้างเมืองเย็น

อากาศร้อนทวีความรุนแรง หมอกควันที่มาพบกันทุกปี ปีละหลายเดือน เมืองที่ไม่มีความสมดุลระหว่างพื้นที่สีเขียวและตึกรามบ้านช่อง ทำให้คนธรรมดาที่ใช้ชีวิตในเชียงใหม่คนหนึ่ง เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของเมือง ทางออกที่คนตัวเล็กๆ ทำได้จริงคือการปลูกต้นไม้ อาจไม่ใช่เรื่องยากหากใครคิดจะปลูก แต่เรื่องง่ายนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะลุกขึ้นมาทำให้เป็นจริง โอปอ-ภราดล พรอำนวย ผู้ริเริ่มโปรเจ็คต์ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองเป็นคนๆ นั้น คนที่อยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แม้ว่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ตาม ซึ่งแรงบันดาลใจหนึ่งมาจากถ้อยคำสะกิดความคิดของพะตีจอนิ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอที่บอกย้ำว่า ‘ปัญหาเกิดจากสังคมเมืองที่บริโภคแต่ไม่รู้จักสร้าง หากปัญหาเกิดจากคนในเมือง ควรแก้ในเมือง คุณอยู่ที่ไหนก็ควรปลูกต้นไม้ที่นั่น คุณไม่ควรบอกคนอื่นให้ปลูกป่าให้คุณ ถ้าไปปลูกข้างนอกไม่มีใครดูแลให้คุณ

       ไม่เพียงแต่คิด เขาเริ่มชักชวนเพื่อนๆ ด้วยคำถามว่า ‘คุณว่าเชียงใหม่ร้อนไหม?’ แล้วคำตอบที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่ซึ่งตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ สถาปนิก ศิลปิน เจ้าของธุรกิจ อาจารย์ นักกิจกรรม และอีกหลายสาขาอาชีพ รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘มือเย็นเมืองเย็น’ ร่วมกันทำกิจกรรมขับเคลื่อนเชิญชวนชาวเชียงใหม่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ซึ่งสะดวกต่อการดูแลรดน้ำ โดยเริ่มจุดประกายกิจกรรมชวนปลูกด้วยแคมเปญที่สนุกและได้ผลบนเฟสบุ๊ค พวกเขาโพสต์รูปตัวเองกับต้นไม้ที่ปลูก พร้อมแปะแฮชแท็ก #มือเย็นเมืองเย็น แล้วส่งคำท้าทายแกมเชิญชวนไปยังเพื่อนอีกสามคนให้ปลูกตาม กระแสตอบรับจากชาวเชียงใหม่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คขยายวงกว้าง จากหนึ่งคนท้า เมื่อสามคนรับคำท้าเท่ากับมีต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสามต้น และเมื่อท้าต่อกันไปอีก ผลที่ได้เท่ากับพื้นที่สีเขียวยิ่งเพิ่มทวีคูณ

ร่วมปลูกต้นไม้

#มือเย็นเมืองเย็น แคมเปญท้าปลูก! ปลุกพลัง

       เมื่อเกิดการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเชียงใหม่ ‘กลุ่มมือเย็นเมืองเย็น’ นัดรวมตัวกันอาทิตย์ละหนึ่งวัน นำปัญหามาร่วมพูดคุยและหาแนวทางแก้ไข โดยมีภาพที่มองเห็นร่วมกันคือ ‘การชักชวนให้ปลูกต้นไม้’ นำมาสู่โจทย์ใหญ่ที่ว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนปลูก’ ภายใต้ข้อแม้ ‘ปลูกแล้วต้องดูแลได้’

      จากการระดมความคิดได้ข้อสรุปซึ่งเล็งเห็นผลว่ากิจกรรมนี้จะช่วยจุดประกายกลุ่มพลังเงียบที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมให้ลุกขึ้นมาลงมือปลูกต้นไม้กันจริงๆ ด้วยการจัดแคมเปญท้าปลูกผ่านเฟสบุ๊ค ซึ่งได้ต้นแบบจากแคมเปญไวรัลการกุศลอันโด่งดังและได้ผลชงัดอย่าง Ice Bucket Challenge โดยแคมเปญ ‘ท้าปลูก’ เปลี่ยนกติกาจากการราดน้ำเย็นเป็นการปลูกต้นไม้หนึ่งต้น แล้วท้าเพื่อนอีกสามคนให้ปลูกตาม ถ่ายรูปต้นไม้ที่ปลูกพร้อมกับติดแฮชแท็ก #มือเย็นเมืองเย็น แชร์ลงบนเฟสบุ๊ค ยิ่งท้าต่อกันไปเรื่อยๆ จำนวนต้นไม้ก็ยิ่งมากขึ้น

      การท้าปลูกแบบนี้มีความสนุกและทำตามกันได้ง่ายเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ อีกทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อยากปลูก หรือสำหรับบางคนที่อยากปลูกต้นไม้อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือ เมื่อได้รับคำท้าก็ทำให้เกิดการปลูกต้นไม้ขึ้นมาจริงๆ ผลของกิจกรรมนอกจากได้ต้นไม้เพิ่ม โครงการมือเย็นเมืองเย็นยังเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ปรากฏพื้นที่ในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวและเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งในรูปแบบข่าว บทสัมภาษณ์ และบทความสร้างแรงบันดาลใจ

       ต่อเนื่องจากแคมเปญท้าปลูกซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี กลุ่มมือเย็นเมืองเย็นได้พัฒนากิจกรรม เปิดรับ ‘พื้นที่’ สำหรับปลูกต้นไม้ควบคู่ไปกับแคมเปญท้าปลูกที่ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อขยายพื้นที่สีเขียวจากบ้านเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ และองค์กรต่างๆ ส่วนมากมีพื้นที่ว่างและมีความพร้อมสามารถดูแลต้นไม้ให้เติบโตได้ รวมถึงผู้ที่สนใจก็สามารถขอรับกล้าพันธุ์ไม้ได้ฟรีผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจมือเย็นเมืองเย็น โดยวางเป้าหมายไว้ที่ 5,000 ต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มอบพันธุ์ไม้พื้นถิ่นร่วม 83 ชนิดสำหรับใช้ในโครงการ

       โมเดลการทำงานในช่วงแรกของโครงการมือเย็นเมืองเย็นเป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมระหว่างภาคประชาชนด้วยกันเอง จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งผ่านการชักชวนกันให้ปลูกต้นไม้กันไปเป็นทอดๆ โดยมีภาคีต่างๆ ซึ่งให้ความสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและสถาปัตยกรรมกระโดดเข้าร่วมขบวนด้วยเช่นกัน อาทิ กลุ่มคนใจบ้าน กลุ่มเขียวสวยหอม ทีมป่าเหนือ ห้องสมุดพื้นบ้านย่านเวียง หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ตลอดจนศิลปินและนักดนตรีเชียงใหม่อีกหลายคน

คูเมือง จ.เชียงใหม่

#คูเมืองเย็น-ชวนเทศบาลนครเชียงใหม่ เปลี่ยนคูเมืองเป็นปอดของเมือง

       ผลของกิจกรรมมือเย็นเมืองเย็นซึ่งดำเนินการโดยภาคประชาชนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นำมาสู่ความคาดหวังที่ใหญ่ขึ้นอีกขั้น นั่นคือการทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวขึ้นกลางเมือง ซึ่งคูเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่ว่างรอบคูเมืองที่สามารถใช้ความรู้เชิงภูมิสถาปัตย์ออกแบบพื้นที่ให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่า กลุ่มมือเย็นเมืองเย็นได้ขยายความร่วมมือไปยังองค์กรท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการแก้ไขปัญสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนครเชียงใหม่สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์จัดแคมเปญ ‘คูเมืองเย็น’ ปลูกต้นไม้พื้นถิ่นจำนวน 800 ต้นรอบคูเมืองเชียงใหม่

       การทำงานส่วนนี้มีการเตรียมงานร่วมกันกับองค์กรท้องถิ่นอย่างเป็นระบบในการหารือทิศทางการออกแบบการปลูกต้นไม้รอบคูเมือง มีการลงพื้นที่เดินรอบคูเมืองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และข้อจำกัดของพื้นที่หากจะบรรจุต้นไม้จำนวน 800 ต้นลงไปเพื่อสร้างปอดกลางเมืองเชียงใหม่ รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเพื่อแชร์องค์ความรู้นำมาปรับใช้กับแคมเปญได้อย่างเหมาะสม

       ผลของแคมเปญคือพันธุ์ไม้พื้นถิ่นทั้ง 800 ต้นถูกปลูกลงรอบคูเมือง และความร่วมแรงร่วมใจจากภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ภาคธุรกิจ และองค์กรท้องถิ่นก็ถูกปลูกลงไปเช่นกัน

ก้าวต่อไปของมือเย็นเมืองเย็น

       หลังจากทำกิจกรรมท้าปลูก, เปิดรับพื้นที่ปลูก และปลูกต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือว่าเป็นแคมเปญในเฟสแรกเท่านั้น ถัดจากนี้กลุ่มมือเย็นเมืองเย็นคาดหวังว่าจะทำให้เกิดแผนที่ต้นไม้ดิจิทัล ซึ่งรวบรวมจากการแชร์โลเคชั่นที่แต่ละคนปลูก เพื่อติดตามต้นไม้ที่มีคนรับไปปลูกแล้วทั้งหมด รวมถึงการจัดแคมเปญดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้รอบคูเมืองเชียงใหม่เป็นระยะๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ที่กลุ่มมือเย็นเมืองเย็นรุ่นนี้จัดทำไว้แล้ว หากมีทีมอื่นๆ หมุนเวียนเข้ามาทำงานร่วมกันก็สามารถนำไปใช้ได้ เกิดเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องต่อไป

       มือเย็นเมืองเย็น เริ่มต้นจากคนเล็กๆ ที่อยากช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองที่ตัวเองอยู่อาศัย ซึ่งเป็นโครงการที่พิสูจน์ว่าคนเล็กใช่ว่าจะทำเรื่องใหญ่ไม่ได้ คนเล็กแต่เยอะจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง