“สวนผักคนเมือง” โครงการเพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วยการพึ่งพาตัวเอง

การเกิดขึ้นของโครงการสวนผักคนเมืองนั้นท้าทายวิธีคิดแบบเดิมของผู้อยู่อาศัยในเมือง ให้ลองเปลี่ยนพฤติกรรมและดำเนินชีวิตสู่การพึ่งพาตัวเองในระยะยาว เปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ตรงระเบียง สวนหลังบ้าน หรือดาดฟ้าของที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นต้นทางของอาหารที่ดีและปลอดภัย โครงการสวนผักคนเมือง มาพร้อมกับแนวคิดที่จดจำได้ง่ายอย่าง “ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต” ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา และศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรามีโอกาสพูดคุยกับ นคร ลิมปคุปตถาวร หรือปริ๊นซ์ ผู้ ‘ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้สัมผัสได้’ เขามาบอกเล่าผลสำเร็จของโครงการสวนผักคนเมืองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย

ส่วนหนึ่งของโครงการสวนผักคนเมืองคือการเปิดศูนย์เรียนรู้ มีการอบรมเรื่องการปลูกผัก หรือการพึ่งพาตัวเองให้แก่ผู้ที่สนใจ เพราะสวนผักคือบันไดขั้นแรกซึ่งเชื่อมโยงคนที่มีความคิดคล้ายคลึงกันให้เข้ามาหากัน และต่อยอดไปสู่การพึ่งพาตนเองในรูปแบบอื่นๆ ได้ ทำให้โครงการสวนผักคนเมืองมีบทบาทในการพัฒนาเมืองที่สรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. มอบความมั่นคงทางอาหาร ทำให้คนเมืองเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ และเพียงพอกับความต้องการ เกิดเป็นสุขภาวะที่ดี มีความสุข สร้างและฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในชุมชน ให้ได้รู้จักกับเพื่อนบ้านหรือเพื่อนในที่ทำงานผ่านการทำสวนหรือนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกัน
  2. บำบัดเยียวยาผู้คน สวนผักสามารถนำไปสู่กิจกรรมสุขภาพอย่างโยคะในสวน การทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ด้วยการใช้สวนผักเป็นสื่อในการเยียวยาผู้ป่วย รักษาโรคทั้งทางกายและทางจิต บำบัดผู้ป่วยจิตเวช ผู้เลิกยาเสพติด คนเร่ร่อน หรือช่วยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการด้วยการทำสวนด้วยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งนอกจากบำบัดด้วยการปลูกผักแล้ว ยังเป็นอาชีพได้อนาคตได้อีกด้วย
  3. สร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ มีสถาบันการศึกษาจำนวนมากที่นำสวนผักเข้าไปเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เพราะสวนผักทำให้เด็กๆ ค้นพบอะไรใหม่ๆ รู้จักการเฝ้าดู อดทน ใจเย็น เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาและฝึกฝนตัวเอง สร้างสมดุลกับพัฒนาการการเติบโต ลดผลเสียที่เกิดจากการเติบโตผ่านสื่ออิเล็กทอรนิกส์ เช่น โทรทัศน์ สมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต

นอกจากนี้ โครงการสวนผักคนเมืองยังแสดงบทบาทในด้านอื่นๆ ร่วมกับเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งเครือข่ายคนจนในเมือง แรงงานนอกระบบ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยามเกิดเหตุการณ์อุทกภัย ตัวอย่างจากเหตุการณ์ตอนน้ำท่วมปีพ.ศ. 2554 กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบสามารถปลูกผักรับประทาน หุงข้าวโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าได้ หรือก้อนจุลินทรีย์ที่โครงการมีส่วนร่วมในการปั้นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มีที่มาจากความรู้ที่คนทำสวนอย่างโครงการสวนผักคนเมืองนำไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ

เป้าหมายสำคัญของโครงการสวนผักคนเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นมีความสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่เรียกว่า เครือข่ายเมืองเปลี่ยนผ่าน (Transition Town network) หมายถึงเมืองที่อยู่ในช่วงระยะของการเปลี่ยนแปลง โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องการกินอยู่อย่างยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต เทรนด์นี้ต่อยอดมาจากการทำเกษตรยั่งยืน ที่คนเมืองได้รับแรงบันดาลใจมาจากชาวบ้านที่พึ่งพาตัวเองได้ แต่ความเป็นเมืองก็มีองค์ประกอบหรือข้อจำกัดต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับมาจากภูมิปัญญาสมัยก่อนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มาประยุกต์ให้เหมาะสม

เครือข่ายสู่เครือข่าย

วิธีการสร้างเครือข่ายของโครงการสวนผักคนเมืองนั้นประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ Form คือกลไลภายนอกหรือเครื่องมือในการสื่อสารอย่างสื่อสังคมออนไลน์ และ Function คือกลไกภายในที่คอยผลิตเนื้อหา และสื่อสารออกไปอย่างมีพลัง สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการบอกต่อกัน จนสื่อสนใจและเข้ามาช่วยเผยแพร่สร้างการรับรู้ในวงกว้าง

กลุ่มผู้ที่สนใจการปลูกผักในเมืองนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นครและทีมจะมองเห็นศักยภาพจากคนที่มีแนวทางสอดคล้องกัน ผ่านกิจกรรมหรือการอบรมต่างๆ ที่มีโอกาสพบเจอ ก็จะชวนมาคุยและเชิญเข้าเครือข่าย นครกล่าวว่าขั้นตอนการพูดคุยนี้สำคัญที่สุด เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และแจ้งให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้มีกำไรเป็นตัวตั้ง แต่มาจากใจรักสำคัญเป็นที่หนึ่ง

ในระยะยาวโครงการสวนผักคนเมืองจะเป็นกระบวนการพัฒนาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เปลี่ยนเมืองด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดชุมชนจากการปลูกผักร่วมกัน การสร้างเครือข่ายแบบ ‘network of network’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยสร้างกลุ่มทาง Social Network หลากหลายกลุ่มที่ตรงกับความต้องการ อาทิ กลุ่ม heart core organic ที่มีบทบาทในการสร้างชุมชนจากความสนใจที่สอดคล้องกัน เป็นต้น เครือข่ายที่แข็งแรงจะทำให้เกิดเกษตรกรในรูปแบบใหม่ ไม่รอให้คนมาซื้อหน้าสวนอีกต่อไป แต่นำผลผลิตออกไปขายในตลาด ทั้งตลาดจริงและตลาดออนไลน์ หรือเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปอาหาร เช่น แยม ซอสพาสต้า สร้างรายได้ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง เกิดเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่เติมเต็มการใช้ชีวิตได้โดยสมบูรณ์

ความเคลื่อนไหวสู่สังคมใหม่ที่ยั่งยืน

เป้าหมายต่อไปของโครงการสวนผักคนเมือง คือขยายผลผลิตไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้มากขึ้น มีโอกาสในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้ผู้คนสามารถเข้ามาปลูกผักและแบ่งปันผลผลิตกันได้ เหมือนอย่างในต่างประเทศที่นำที่ว่างข้างสถานีรถไฟใต้ดินมาปลูกพืชผัก ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง และอีกหนึ่งเป้าหมายคือการทำให้คนเมืองรู้ที่มาของอาหาร และหันมาสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกผลผลิตอย่างมีคุณภาพ

ไม่ใช่แค่คนเมืองเท่านั้นที่ต้องท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต โครงการสวนผักคนเมืองเองก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ ทำแล้วอยู่ได้ มีความหมายกับสังคมเมือง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ได้จริง คำตอบของคำถามเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลานับ 10 ปีในการพิสูจน์ แต่ในวันนี้ ผู้คนที่เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นับเป็นสัญญาณอันดีในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่มิติใหม่ได้อย่างแท้จริง

เรื่อง : กมลกานต์ โกศลกาญจน์
ภาพ : พุทธิรักษ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล