ฟาร์มไส้เดือน ‘ลุงรีย์’ วิถีเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

หากคุณมีโอกาสก้าวเท้าเข้าไปใกล้ฟาร์มแห่งนี้จะได้ยินเสียงประสานของไก่และห่านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ พอเปิดประตูเข้าไปก็ยิ่งพบกับความประหลาดใจมากขึ้นกว่าเดิมเพราะภาพที่เห็นคือชายหนุ่มคนหนึ่งวิ่งเล่นกับ “บู้บี้”ห่านคู่ใจของเขา (ซึ่งชวนสงสัยมากว่านี่ห่านหรือสุนัข ทำไมจึงดูเชื่องแบบนี้) ชารีย์ บุญวินิจ เจ้าของ “ฟาร์มลุงรีย์” ชายหนุ่มที่กลมกล่อมไปด้วยเครื่องปรุงทางความคิดของนักออกแบบนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร นักการเมือง และแม้กระทั่งพระ แต่เขาบอกว่าเขาขอเป็นเพียงคนธรรมดาที่ให้คำจำกัดความถึงสิ่งที่ทำอยู่ว่า ‘ธรรมชาติ ออกแบบได้’

ลุงรีย์มาจากไหน

เราเคยถามตัวเองกันหรือยังว่า“ชีวิตนี้อยากทำอะไร” หลายคนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 – 30 ปี คงยังตอบไม่ได้ แต่ผู้ชายที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เขารู้เป้าหมายของตัวเองตั้งแต่อายุ 22 ปีแล้วจากการนำความต้องการในชีวิตและลักษณะนิสัยของตัวเองมานวดผสมเข้าด้วยกันจนออกมาเป็นก้อนความคิดกลมๆเพียงไม่กี่ก้อนคือ งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคน นอนหลับแล้วเงินทำงาน 24 ชั่วโมงได้แบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น และที่สำคัญอยากให้คนทั่วประเทศได้กินผักปลอดสารพิษ

เมื่อเจอเป้าหมายแล้วเขาจึงเดินหน้าพุ่งชนด้วยการลงมือทำ ทำ และทำเพื่อให้สักวันหนึ่งคนทั่วประเทศจะได้กินผักปลอดสารพิษอย่างที่เขาต้องการ

ทำไมต้องไส้เดือน?

จากความต้องการที่จะเป็นต้นน้ำของระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้คนทุกคนสามารถนำไปสานต่อได้ จึงเริ่มศึกษาวงจรของมันจนพบว่า “ดิน” คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างและที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์จะต้องมี “ไส้เดือน”ฟาร์มลุงรีย์จึงเป็นฟาร์มไส้เดือนซึ่งเข้าเป็นเติมเต็มวงจรของเกษตรดินดีได้

ก่อตั้ง Thailand Young Farmers

เริ่มเลี้ยงไส้เดือนได้ไม่นาน ลุงรีย์ก็ออกตระเวนแลกเปลี่ยนความรู้ลับคมความคิดกับคนที่เลี้ยงไส้เดือนด้วยกันจนได้ก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำหนดราคากลางสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ต่อมาจึงเริ่มออกไปคุยกับผู้คนที่ถนัดในด้านต่างๆกระทั่งเกิดเป็นแรงดึงดูดให้คนที่ชอบในเรื่องเดียวกันมาเจอกัน และกลายเป็น “Thailand Young Farmers” หรือกลุ่มเกษตรกรหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รักในการนำแก่นความรู้ในแต่ละด้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและเมื่อไม่รู้อะไรก็ไปหาคำตอบมา ทำแบบนี้ซ้ำๆ ทุกวันก็จะเก่งเอง ซึ่งลุงรีย์บอกว่านี่คือเคล็ดลับสำคัญเพราะการเรียนรู้จากคนอื่น คือการเรียนรู้ที่เร็วที่สุด

เมื่อก่อตั้งฟาร์มลุงรีย์ขึ้นมาแล้วขั้นต่อไปคือการเข้าไปขอทุนกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. เพื่อให้เป็นที่การันตีว่าฟาร์มลุงรีย์มีสังกัดแล้วไม่ใช่ฟาร์มเถื่อนอย่างในอดีตอีกต่อไป แต่ขั้นตอนนี้ก็ไม่ง่ายนักกับการที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะไปขอทุนมาทำอะไรสักอย่างให้ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่เขาจึงนำสิ่งที่ได้จากการบวชมาใช้คือ ‘การเป็นผู้ให้’ เพราะจากพื้นฐานที่เป็นนักออกแบบอยู่แล้วจึงออกแบบให้กับผู้ที่ต้องการฟรีๆ จนทำให้ผู้ใหญ่เริ่มเชื่อมั่นว่า ‘เขาทำได้และเขามีศักยภาพพอ’

เกษตรกรไทย เกษตรกรเท่

“เป็นเกษตรกรมันเท่นะผมต้องการบอกวัยรุ่นทุกคนแบบนี้ ผมจึงต้องออกแบบทุกอย่าง ตั้งแต่ชื่อลุงรีย์ไปจนถึงใช้การออกแบบมาเพิ่มมูลค่าให้ปุ๋ยไส้เดือน และการสื่อสารสิ่งนี้ส่งออกไปเพราะถ้าพวกเขารู้สึกว่ามันเท่ก็จะเห็นคุณค่าของมัน และอยากจะมาเป็นพวกด้วยซึ่งถ้าเราได้คนรุ่นใหม่มาเยอะๆ ก็จะเกิดคนเก่งๆ ขึ้นมากมายในวงการมันจะทำให้มีแรงผลักดันสิ่งดีๆ ออกสู่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนไทยชอบคิดว่าเป็นเกษตรกรแล้วจนแต่ผมว่าคิดแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะมันคือการไม่เคารพบรรพบุรุษของตัวเอง เราต้องทำให้พวกเขารู้ว่าเกษตรกรไม่ได้จนทุกคนนะไม่อย่างนั้นสักวันหนึ่งประเทศไทยคงไม่มีเกษตรกรเหลืออยู่ ทั้งๆที่ที่นี่คือประเทศเกษตรกรรม”

นี่คือสิ่งที่ลุงรีย์คิดและทำมาตลอดเขาใช้พื้นฐานที่จบด้านการออกแบบมาออกแบบสื่อที่ใช้ส่งสารและการใช้ชีวิตเพื่อสร้างภาพลักษณ์เท่ๆ ให้กับงานเกษตรกรรมขึ้นมา …เพราะถ้าเกษตรกรไม่เท่ก็คงไม่มีใครอยากเป็น…

จากใจลุงรีย์

ก่อนจากกันวันนี้ลุงรีย์ได้ฝากข้อคิดให้กับคนที่อยากจะทำอะไรดีๆ เพื่อประเทศไทยว่า“ลองทำงานอดิเรกให้เป็นงานประจำ เพราะคุณจะไม่มีวันเบื่อและเหนื่อยกับมันเมื่ออยากทำ ต้องทำเลย ใช้การเรียนรู้จากการลงมือทำ ครั้งแรกผิดได้ ไม่เป็นไรแต่ครั้งที่สองต้องห้ามผิด ใช้การจดบันทึกเข้ามาช่วยที่สำคัญต้องหาคุณค่าของตัวเราให้เจอรู้ว่าตรงไหนที่อยู่แล้วมีประโยชน์กับคนอื่นก็ไปอยู่ตรงนั้น ง่ายๆ แค่นี้เอง”