“ถ้าผมเป็นแบบนั้นบ้างใครจะมาช่วยผม และจะมีใครบ้างที่มาทำให้ผม ผมก็ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ทุกคนดู ผมทำตรงนี้ไม่หวังอะไร สิ่งที่ทำคือการพยายามปลูกฝังให้คนในชุมชนมีจิตเมตตาเหมือนเรา เราก็จะได้มีเพื่อนขึ้นมาอีก”
แรงบันดาลใจในการทำงานอาสาสมัครด้านคนพิการของ “ลุงกฤษ” กฤษฎา โดมดอกฟ้า อายุ 79 ปี ประธานชุมชนหลังโรงเรียนเสสะเวช แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ที่ทำงานด้านนี้ยาวนานกว่า 20 ปี
**จุดเริ่มต้นงานอาสา
“ลุงกฤษ” เป็นชื่อที่ชาวชุมชนหลังโรงเรียนเสสะเวช เรียกจนติดปาก แม้จะมีอาชีพค้าขาย แต่เมื่อพบเห็นปัญหาความเดือดร้อนของคนในชุมชนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือและการได้รับบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ก็เกิดแรงบันดาลใจเข้าเป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุข
“ผมมาเป็นอาสามัคร เพราะชุมชนของผมอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก อยู่ในสวน เวลาเดินทางต้องเดินทางไกล หลังจากเข้าอบรมเป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุขแล้ว ก็มาร่วมกันกับเพื่อนตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนหลังโรงเรียนเสสะเวช ขึ้นมา ซึ่งก็มีคนมาใช้บริการจำนวนมาก”
**ทุ่มเทชีวิตเพื่อคนพิการ
ถัดมาไม่กี่ปี ลุงกฤษก็มีโอกาสเข้าอบรม อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และนับตั้งแต่บัดนั้น ลุงกฤษก็ทุ่มเททำงานอาสาด้านคนพิการมาตลอด
“การทำงานของผม ผมจะพยายามดูว่าที่ไหนมีคนพิการ ที่ไหนมีผู้สูงอายุลำบาก ก็จะพาคณะไปดู และแนะนำวิธีการปฏิบัติตน ดูแลสุขภาพให้อยู่ได้”
ปัจจุบันในชุมชนมีคนพิการ 18 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่มีความรู้ว่า ตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ลุงช้างก็จะเข้าช่วยประสานงานทำให้เขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
“ผมจะดูว่า เขาทำบัตรคนพิการหรือยัง มีบัตรประชาชนไหม ถ้ายังไม่มีก็จะจัดการทำให้ เรื่องบัตรสำคัญมากที่สุด เพราะได้มาแล้ว สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล และบัตรนี้ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะคนพิการไม่อาจรอได้”
นอกจากเรื่องบัตรคนพิการ ลุงกฤษก็ยังช่วยดูแลด้านอื่นๆ ตามความต้องการ เช่น ต้องการรถวีลแชร์ ก็จะประสานงานติดต่อให้
“เมื่อก่อนรถวีลแชร์หายาก ผมก็ประกาศในชุมชน ถ้ามีรถวีลแชร์ไม่ใช้แล้ว ก็ให้มาบริจาคที่ผมได้ หรือมีไม้เท้าคนเจ็บ ขาหัก ก็บริจาคได้ ซึ่งตอนนี้ผมมีรถวีลแชร์ 3-4 คัน เพื่อให้คนพิการใช้ หรือคนป่วยได้เดินทางสะดวกปลอดภัย ส่วนวอคเกอร์ก็มีหลายอัน ผมก็ให้คนพิการไป จะนำมาคืนหรือไม่คืน ผมก็ไม่สนใจ เพราะเราให้เขาไปใช้ ซึ่งที่ผ่านมา คนที่ไม่เสียชีวิตก็ใช้ไป ส่วนคนที่เสียชีวิตก็เอามาบริจาคคืน”
ไม่เพียงช่วยด้านสิทธิต่างๆ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ด้าน “จิตใจ” ลุงกฤษก็ให้ความสำคัญ ลงไปให้กำลังใจถึงที่บ้าน ซื้อขนม ซื้ออาหารไปฝาก ทั้งที่ ตนเองก็ทำงานจิตอาสาโดยไม่ได้มีเงินเดือนแต่อย่างใด จะมีก็เพียงเงินค่ารถจากศูนย์สุขภาพชุมชนฯ 140 บาทต่อวัน และเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเดือนละ 600 บาทสำหรับอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่
“ถ้าถามว่าพอไหม ไม่พอหรอกครับ เงินตรงนี้ ซื้อของซื้ออะไรให้คนพิการก็ไม่เหลือแล้ว คนพิการบางคนไม่มีข้าวกิน เราก็ไปหามาให้กิน บางคนไม่มีขนมอร่อยๆ เราก็หาอะไรอร่อยๆ ให้เขา คนพิการไม่ได้ไปไหน ก็เลยไม่รู้จะซื้ออะไรทาน แต่เราก็ไม่ได้มีมาก บางวันก็ต้องบอกเขาว่า มีก็กินกันแค่นี้ ถ้าไม่มี ได้กินสักหนึ่งมื้อก็ยังดี ก็ให้กำลังใจกันแบบนี้”
**งานจิตอาสางานละเอียดอ่อน
ลุงกฤษ เล่าว่า แม้จะรักในการทำงาน แต่บางครั้งก็มีอุปสรรคเช่นกัน โดยเฉพาะความไม่เข้าใจของญาติคนพิการ
“คนพิการบางราย ญาติพี่น้องไม่เข้าใจ บอกว่าเราดูแลเขาไม่เต็มที่ ก็ค่อนข้างทำงานยาก เพราะละเอียดอ่อน หรือคนพิการบางคน พี่น้องมีอันจะกิน แต่ถูกปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ให้เราไปดูแล ซึ่งบางครั้งเราไม่สามารถดูแลได้เต็มที่มากนัก เพราะเราก็มีภาระของเรา มีงานอื่นๆ ที่ต้องทำ”
แม้จะมีอุปสรรคแต่ลุงกฤษก็ไม่ท้อ ยังคงมุ่งมั่นทำงานจิตอาสาต่อไป รวมทั้งช่วยดูแลผู้สูงอายุควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ยังหาอาชีพเสริมมาให้ผู้พิการและผู้สูงอายุทำเพื่อเสริมรายได้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
“ผมติดต่อกศน.เอาอาชีพที่คนพิการทำได้มาให้ฝึก เช่น ทำดอกไม้ พับกระดาษ แต่ถ้าผู้พิการฝึกไม่ไหวก็ให้ผู้สูงอายุมาเรียน อย่างตอนนี้ก็ทำดอกไม้จันทน์ ก็ให้ผู้สูงอายุที่ร่ำเรียนมาทำเป็นอาชีพ ถ้าคนในชุมชนเสียชีวิตเมื่อไหร่ก็จะบริจาคให้ แต่ถ้าต้องการมากกว่า 100 ดอกก็ให้ซื้อจากเรา ก็เป็นการหารายได้อย่างหนึ่ง”
“มีโครงการอะไรหรือกิจกรรมอะไร ผมก็พยายามดึงเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมาเรียน เพื่อไม่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าเปรียบผู้สูงอายุเป็นไม้ ถ้าเอามาทาสีใหม่ก็สวยขึ้น แต่ถ้าปล่อยไปวันๆ ก็หมดไปวันๆ”
“ทุกวันนี้ คนเหล่านี้ก็มีความสุข พึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระสังคม”
**อายุไม่ใช่อุปสรรค
แม้อายุจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคให้ลุงกฤษทำงานจิตอาสา
“แม้ผมอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง ปฏิญาณกับตัวเองว่า ขออย่าให้ผมได้เจ็บ หรืออย่าได้เป็นแบบคนพิการ บุญที่ทำมา ขอให้ร่างกายแข็งแรง จะได้ทำให้ผู้พิการต่อไป เพราะถ้าเราเป็นอะไรไปคนหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถทำแบบเราได้ ก็พยายามดูแลตัวเองให้แข็งแรงเสมอ รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายบ้าง”
นอกจากเป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุขและด้านคนพิการแล้ว ลุงกฤษยังเป็นประธานชุมชนหลังโรงเรียนเสสะเวช สำนักงานเขตบางกอกใหญ่, ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์ 33, ประธานกรรมการการศึกษา กศน. เขตบางกอกใหญ่ , อาสาสมัครคุมประพฤติอสค.
“ผมทำอะไรมาเยอะแล้ว ก็พยายามถอดหมวกทีละใบๆ เหลือที่สำคัญๆ แค่ 2-3 ใบเท่านั้น”
ลุงกฤษเผย ก่อนบอกเคล็ดลับการทำงานว่า
“หลักการทำงานของผม คือ อันไหนสำคัญกว่า เราต้องทำก่อน อย่างการดูแลสาธารณสุข ดูแลสุขภาพคนในชุมชน เราดูแลดีแล้วหรือยัง โรคภัยต่างๆในชุมชน เมื่อเราดูแลตรงนี้ดีแล้ว ก็ค่อยไปทำงานอื่นที่สำคัญรองลงมา”
**เป็นผู้นำต้องเสียสละ
จากการทำงานอย่างทุ่มเทด้วยใจที่อยากช่วยเหลือโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ทำให้ลุงกฤษได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ รางวัลอาสาสมัครดีเด่น รางวัลจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยากยาก และล่าสุดได้รับรางวัลประชาบดี เชิดชูเกียรติผู้นำคุณประโยชน์ดีเด่นแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ประจำปี 2559
“คิดว่าได้แค่นี้พอแล้ว” ลุงกฤษกล่าวอย่างอารมณ์ดี
“คงไม่ตะเกียกตะกาย ทำงานไปก็ดูแลกันไป ไม่ไปประกวดประขันกับใครเขา การเป็นผู้นำต้องเสียสละ เพราะถ้าไม่เสียสละแล้ว ใครจะมาเป็นผู้นำให้เขา ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็เสียสละไม่น้อย ทั้งเวลา ทรัพย์สินเงินทอง รวมถึงความสุขสบายต่างๆ แต่ทำแล้วเห็นเขามีความสุขขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ผมก็ภูมิใจ” ลุงกฤษพูดพลางยิ้ม ก่อนทิ้งท้ายว่า
“จะทำงานตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ได้”