ทุกวันนี้เมืองใหญ่ทั่วโลกพากันก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองจักรยาน เพราะแนวโน้มการตั้งถิ่นฐานของคนได้เข้ามาสู่เมืองมากกว่าชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมืองมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น และโครงสร้างของเมืองต้องเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตแบบใหม่ ฉะนั้น ถ้าเมืองยังคงมีการใช้รถยนต์เป็นหลัก จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หนทางหนึ่งที่มหานครหลายแห่งทั่วโลก เช่น โคเปนเฮเกน โตเกียว นิวยอร์ก ฯลฯ เลือกทำคือการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเมืองจักรยาน และไม่เพียงเมืองใหญ่เท่านั้น หากเมืองไหนเปลี่ยนโครงสร้างมารองรับจักรยาน ก็จะทำให้เมืองนั้นเปลี่ยนโฉมหน้ากลายเป็นเมืองสีเขียว และเป็นเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างมีความสุขด้วย เพราะทุกสิ่งสัมพันธ์กัน เปลี่ยนสิ่งหนึ่ง ย่อมมีผลต่อทุกสิ่งรอบตัวด้วย
การจะปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรต่อการปั่นจักรยานได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แม้การขี่จักรยานในเมืองไทยจะไปไกลเกินคำว่า “กระแส” แล้ว แต่ปัญหาของการปั่นจักรยานก็ยังมีอยู่ไม่น้อย
“ทัศนคติของคนขับรถยนต์ส่วนมากเขามองว่าจักรยานควรจะไปปั่นที่อื่น ไม่ใช่มาปั่นบนถนนแบบนี้” คือหนี่งในปัญหาที่อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ เลขาธิการคณะทำงานโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ยกขึ้นมาให้ฟัง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาหลักที่ผู้ปั่นจักรยานในเมืองไทยทุกคนต้องเจอ คือ โครงสร้างของถนนไม่เอื้ออำนวย นักปั่นส่วนหนึ่งขาดความรู้ที่ดีพอ และทัศนคติของผู้ขับรถยนต์ที่ค่อนข้างเป็นลบต่อผู้ที่ปั่นจักรยาน…
และการแก้ปัญหานั้น ไม่เพียงอาศัยจิตสำนึกส่วนบุคคล แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนโดยนโยบายจากส่วนกลางด้วย ‘โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ จึงเกิดขึ้นมาโดยทีมงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยแนวคิดที่มุ่งการสร้างทัศนคติไปพร้อมๆ กับการปรับใช้พื้นที่จากโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของแต่ละเมืองให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือมีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร ทำให้โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี สามารถนำไปทำได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โครงการนี้แม้เพิ่งเริ่มทำงานได้เพียง 8 เดือน แต่สามารถช่วยพัฒนาพื้นที่สาธารณะหลายแห่งที่มีอยู่แล้วให้มีประโยชน์หลากหลาย ทั้งเดินเล่น พักผ่อน และปั่นจักรยาน รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาเส้นทางจักรยานที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นในหลายจังหวัด เช่น ชัยนาท น่าน อุบลราชธานี กระบี่ พัทลุง เป็นต้น
เพื่อให้สามารถขยายงานได้รวดเร็ว ต้องมีการทำงานที่ชัดเจน และเน้นความร่วมมือที่ประสานกันหลายฝ่าย เรามาดูกระบวนการการทำงานของโครงการนี้กัน
กระบวนการปั่นเมือง
จากปัญหาสำคัญคือโครงสร้างของถนนไม่เอื้ออำนวย นักปั่นส่วนหนึ่งขาดความรู้ที่ดีพอ และทัศนคติของผู้ขับรถยนต์ที่ค่อนข้างเป็นลบต่อผู้ที่ปั่นจักรยาน ทำให้ทีมงานตั้งโจทย์ว่า “จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้ถนนทุกคนเกิดสำนึกที่ดีร่วมกัน เพราะถนนเป็นของคนทุกคน มิใช่ของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น”
แล้ว ‘โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ ก็คือคำตอบที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมจนสำเร็จ จากนั้นจึงได้ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อผลักดันโครงการขึ้นมาภายใต้ยุทธศาสตร์การทำงาน 3 ส. ดังนี้
ยุทธศาสตร์การทำงาน 3 ส.
ส.ที่ 1 “สวน” คือ การนำสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ หรือสวนพฤกษศาสตร์มาแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับทุกคน อาทิ คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ คนที่มาวิ่ง คนที่มาปั่นจักรยาน เช่น สวนรถไฟที่กรุงเทพมหานคร หรือสวนบุ่งตาหลั่วที่นครราชสีมา เป็นต้น แต่ถ้าบางที่ใช้ร่วมกันไม่ได้ก็ต้องออกกฎระเบียบ เช่น สวนลุมพินี ที่มีการออกกฎให้ช่วงเช้าสำหรับคนเดินและวิ่ง หลังจากนั้นประมาณ 9 โมงถึงบ่าย 3 สำหรับคือเวลาของผู้ที่สนใจเข้าไปปั่นจักรยาน แต่ก็มีการจำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส.ที่ 2 “เส้นทาง” คือ การรณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างเส้นทางจักรยานร่วมกับผู้ใช้รถ และคนเดินเท้า เช่น การจำกัดความเร็วของรถยนต์ในบางพื้นที่ แบ่งทางเดินเท้าหรือถนนที่มีความกว้างพอให้เป็นเลนจักรยานด้วย ซึ่งในยุทธศาสตร์นี้ หลายๆ พื้นที่ก็ได้มีการนำไปปรับใช้แล้ว เช่น จังหวัดจันทบุรีที่สร้างเส้นทางคู่ขนานเลียบทะเลระหว่างจักรยานและรถยนต์ แต่ในหลายพื้นที่ที่มีข้อจำกัดก็ใช้การทาสีและตีเส้นเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของแต่ละจังหวัดแทน
ส.ที่ 3 “สนาม” คือการสร้างสถานที่ที่ปลอดภัยให้คนที่ต้องการปั่นจักรยานออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น สนามเขียวที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนาม อบจ.ที่จังหวัดสุรินทร์ และหลายๆ จังหวัดก็มีสนามบินที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ตรงนี้ สสส. จึงเข้าไปผลักดันให้ปรับปรุงพื้นที่เหล่านี้สำหรับเป็นที่ออกกำลังกายของผู้ที่ชอบปั่นจักรยาน
เมื่อเคลื่อนที่แล้วก็ปั่นต่อไปไม่หยุด
ในฐานะตัวแทนของโครงการอาจารย์ณรงค์คิดว่าตอนนี้ทัศนคติระหว่างผู้ขับและผู้ปั่นเริ่มถูกปรับให้ดีขึ้นแล้ว
“ดีใจมากที่ตอนนี้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับผู้ที่ปั่นจักรยานมากขึ้น และที่สำคัญการปั่นจักรยานก็เริ่มขึ้นจากประชาชน โดยรัฐบาลมีหน้าที่เพียงเข้าไปอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้เท่านั้น จึงถือว่านี่เป็นพลังประชาชนจริงอย่างแท้จริง”
หน้าที่ของโครงการจึงไม่ต่างจากหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่สามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้
“เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และสังคมเป็นส่วนหนึ่งของเราเช่นกัน เมื่อสังคมดี ตัวเราและคนรอบข้างก็จะดี ซึ่งตรงนี้เราต้องมีสำนึกดี สำนึกรักประเทศก่อน และตรงนี้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เลย เช่น เห็นขยะตามพื้นก็ช่วยกันเก็บไปทิ้ง หรือเมื่อเห็นผู้สูงอายุข้ามถนนก็เข้าไปช่วย ซึ่งเป็นการเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ซับซ้อนก่อน ที่สำคัญเมื่อใครทำดีต้องสนับสนุนให้เขาทำต่อไป”
นี่คือผลของการร่วมมือกันระหว่างรัฐและประชาชน จึงทำให้ ‘เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ สามารถปั่นเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้บนเส้นทางที่กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ