เมื่อ ECO คือชีวิต
ไม่มีคำว่ายากลำบากในความ “รักษ์โลก” ของ 2 คู่รัก 
“ท็อป-นุ่น”

ถูกยกให้เป็นคู่รัก Eco ที่มีใจรักและทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม  โดยส่วนตัวมีความรู้สึกอย่างไรกับคำนี้ ?

ท็อป :  มีสองความรู้สึกครับ อันแรกคือรู้สึกดีที่สิ่งที่เราทำก็มีคนได้เห็นได้รู้จัก แล้วมีบางคนที่ได้เอาไปปรับใช้หรือทำตามบ้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็กดดัน เพราะว่าเราก็รู้ตัวนะว่าเราไม่ได้เป็นEcoได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือว่าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เราก็มีบางจังหวะที่ทำลายเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยที่เรารู้ตัวก็มีและไม่รู้ตัวก็มีเช่นกัน บางจังหวะมันก็เลยจะกดดันหน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะมีใครเห็นเราในจังหวะไหน แต่ผมเองจะบอกอยู่เสมอนะว่าผมเป็นแบบนี้แหละ คือเราพยายามสื่อสารตั้งแต่ผมสนใจเรื่องนี้วันแรก โดยบอกกับทุกคนว่าผมเป็น Eco แบบมีกิเลส คือเราก็อยากมีอยากใช้อยากได้ของที่มีการโปรโมทประชาสัมพันธ์ บางอย่างเราไม่สามารถเป็นมิตรได้ยกตัวอย่างเช่นการเดินทาง เรายังขับรถยังนั่งรถ ไม่ได้ปั่นจักรยานไปทุกที่ บางทีเรายังอยากจะกินของที่แบบเรารู้ว่าการได้มามันต้องทำลายสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่จังหวะนั้นอยากกินก็กินไม่สามารถกินผักออแกนิกได้ตลอด อันนี้คือตัวอย่างบางส่วนที่เป็น

นุ่น :     ก็คล้ายๆ กันค่ะ นุ่นรู้ว่าท็อปเขาจริงจังในความที่กลัวคนจะเข้าใจว่าความเป็นคู่รัก Eco คุณต้อง Eco ตลอดเวลา นุ่นรู้สึกว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราเป็นมันเป็นสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ไม่ใช่อยู่ๆ อ๋อวงการบันเทิงเหรอยุคนี้ไม่มีใครสนใจเรื่อง Eco เรามาสนใจเรื่องนี้ดีกว่า แล้วเราจะกลายเป็นคู่รัก Eco ที่แตกต่าง ทำคำว่าคู่รัก Eco ให้กลายเป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราคิด แต่มันได้มาซึ่งเกิดจากความสนใจของเรา และเป็นสิ่งที่เราชอบ นุ่นก็เลยรู้สึกกับมันแบบสบายๆ และก็มักจะบอกเสมอว่าใช่เราเป็นพวกมีกิเลส (หัวเราะ) ยอมรับ เอาง่ายๆ ผู้หญิงทำสีผม การทำสีผมคือใช้สารเคมีไม่ Eco เลยนะ แต่นุ่นก็ทำเล็บก็ทำบ้างพอประมาณ แต่พยายามทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ละทิ้งไม่ได้สนใจ เราสนใจในสิ่งที่เราทำได้

จุดเริ่มต้นและความสนใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อม ?

ท็อป :  ผมสนใจจากการได้ดูภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth (เรื่องจริงช็อคโลก) อัล กอร์ มาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เลยเอาไปทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโท หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เป็นนักออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยงานราชการบ้าง ได้เป็นกรรมการตัดสิน เลยคิดว่ามาเปิด  Eco Shop เป็นสิ่งที่เห็นและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าเราจริงจังแล้วในปี 2009 เป็นร้านค้าที่รวบรวมสินเค้าออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่นั้นมาก็เกือบสิบปี ขยายไปเรื่อย

นุ่น :    ของนุ่นสนใจตอนที่เราคบกันและท็อปเขาก็เริ่มทำหัวข้อวิทยานิพนธ์นี่แหละค่ะ  ยังไปยืนแจกแบบสอบถามตอนที่เป็นแฟนกันอยู่เลย (ยิ้ม) คือด้วยเป็นพราะว่าเขาสนใจและนุ่นว่านุ่นเหมือนเป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่ว่าก็เคยรับรู้ได้ยินผ่านเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เราเลยเหมือนเรียนกับเขาไปด้วย เปิดร้านกับเขาไปด้วย เขาเลือกสินค้าก็เหมือนเลือกกับเขาไปด้วย กลายเป็นว่าเราเข้าใจรู้สึกดีกับมัน แล้วก็อินโดยไม่ต้องบังคับ ตอนแรกเรามาด้วยเสน่หาเพราะว่าเป็นแฟนกันหลังๆ อินเอง แล้วก็จะมีแบบต่างคนต่างเตือนกัน ซื้อของก็จะบอกว่าตัวเองไม่ต้องเอาถุงหรอก

ท็อป : จบได้เพราะนุ่นนี่แหละครับ (ยิ้ม) มีคนมาช่วยตอบแบบสอบถาม

การรักษ์โลกทำได้หลายแบบ ทำไมถึงเลือกวิธีนี้ ?

ท็อป :  ชอบแล้วสนใจผมไม่ได้แตกต่างกับผู้ชายที่ชอบเรื่องรถเรื่องเครื่องเสียง แต่เพียงแค่ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วผมก็เอาเรื่องนี้มาทำเป็นอาชีพด้วย เรื่องการออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะผมจบออกแบบมา มันก็เลยต่อเนื่องยาว แต่พื้นฐานไม่ได้แตกต่างกับคนอื่นๆที่สนใจในเรื่องอื่น แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมันต้องคิดเยอะกว่าผลิตภัณฑ์ปกติ แต่มันคือพื้นฐานเดียวกัน มันแค่เพิ่มโจทย์เฉยๆ ถ้าออกแบบเก้าอี้มันก็ควรจะมีพื้นฐานหลักว่าต้องแข็งแรง นั่งสบาย ราคาสมเหตุสมผล ผมก็เพิ่มไปอีกข้อหนึ่งว่าการผลิตหรือการขายมันต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย  พอหลังๆ ลูกค้าก็อยากจะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามที่เราสนใจ ไม่ใช่ว่าเราจะไปโน้มน้าวใจลูกค้าด้วยการที่ว่าแค่มันดีกับสิ่งแวดล้อมนะครับ เพราะบางทีมันไม่พอมันอาจจะต้องโน้มน้าวเขาว่ามันดีกับธุรกิจยังไง เช่นมันจะลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยเขาก็จะรู้สึกว่าได้สองเด้ง

รู้สีกไหมว่าสิ่งที่ท็อปกำลังทำมันดูยากหรือว่าลำบาก ?

นุ่น :     ไม่รู้สึกแบบนั้นเลยค่ะ นุ่นว่าสิ่งที่ท็อปสนใจมันเป็นข้อเท็จจริงมากๆ ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมเหมือนบ้านโทรม เราซึ่งเป็นมนุษย์เราก็จะอยู่ในบ้านที่โทรมๆ แบบไม่สบาย ดังนั้นสิ่งแวดล้อมมันก็เหมือนบ้านเราที่ถ้าสิ่งแวดล้อมแย่ตัวเราก็จะแย่ ก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันไปได้กับทุกพื้นฐานอาชีพทุกการกระทำของคน ทำกับข้าวก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เลือกทานผักที่ปลูกแบบออแกนิก ไม่ใช้พวกภาชนะที่ย่อยสลายยาก จะแต่งตัวเป็นแฟชั่นคุณเลือกใช้เสื้อผ้าที่มันเป็นของมือสองก็ถือว่าเป็นการแต่งตัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะว่าไม่ได้ผลิตใหม่ หรือว่าการใส่เสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของใยธรรมชาติ ทุกอาชีพสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ที่สำคัญคนไทยสมัยก่อนพื้นฐานวัฒนธรรมเราอยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอด เราทอผ้า ตำข้าว ฝัดข้าว จริงๆมันไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่ว่าด้วยเทคโนโลยีความทันสมัย ความเจริญก้าวหน้ามันพาการที่เราเคยเป็นออกไปไกลจากสิ่งที่เราเป็น จนวันนึงก็มีฝรั่งมาบอกกับเราว่า ทำไมคุณไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมล่ะ

มันยากในการคิดต่างไปจากคนอื่นไหม ?

ท็อป :  ณ ปัจจุบันผมว่ามันไม่ได้ต่าง ตอนที่ทำแรกๆ มันอาจจะต่าง พอโลกมันเปลี่ยนไปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการผลิตของด้วยเครื่องจักรผลิตออกมาในปริมาณมากๆ แล้วเราใช้ทรัพยากรกันเต็มที่ พอมันเป็นแบบนี้มายุคหนึ่งคนก็ชิน ในวันที่เราทำเมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้วมันอาจจะดูต่างบ้าง แต่พอมาวันนี้พอพูดเรื่อง Eco ทุกคนก็จะเข้าใจ หลายๆ โรงงานหลายๆ บริษัทก็พยายามทำสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นรัฐบาลก็สนับสนุนสินเค้าพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง หรือว่านโยบายต่างๆ ฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจและพยายามทำให้มันมีความซับซ้อนมากขึ้น การใช้เทคโนโยยีเข้ามาช่วย แล้วยิ่งตอนนี้พอมันกลายเป็น 4.0 ในประเทศไทย ก็จะเหมือนใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยมากขึ้นก็เลยทำให้ผมเริ่มเห็นความหลากหลาย ถ้าตอบก็คือตอนนี้เรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นเราก็เลยจำเป็นที่จะต้องหาอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ผมก็พยายามไปเจอนักศึกษาไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยว่าพื้นฐาน Eco มันสามารถที่จะออกแบบด้วยหลักอะไรได้บ้าง พอพื้นฐานได้ปุ๊บเราก็เอา case study จากสิ่งที่ผมทำจากคนทั้งในประเทศหรือไม่ก็ต่างประเทศมาเล่าให้ฟัง มันก็สามารถที่จะช่วยได้

นุ่นมีส่วนช่วยท็อปในตรงนี้อย่างไร ?

นุ่น :     เอาอย่างนี้ดีกว่าค่ะ คือท็อปไปไหนนุ่นไปด้วย เป็นฝ่ายซัพพอร์ทในความคิด เพราะว่าเห็นดีงามในสิ่งที่เขาทำแหละ จะเป็นผู้สนับสนุนตัวยงเป็นแฟนพันธุ์แท้ ถือป้ายไฟข้างๆ

ความรู้สึกที่มีคนรักมาอยู่ข้างๆ ช่วยแชร์ช่วยคิด  ?

ท็อป :  ผมเองรู้สึกดีเลย ต้องขอบคุณที่นุ่นมาช่วยแหละ เขาจะมาช่วยดูเรื่องการผลิต เพราะว่านุ่นจบวิศวะมาด้วย และบางทีเราก็จำเป็นนะที่จะต้องมีคนที่จริงใจกับเรา เป็นกระจกสะท้อนให้เราบางอย่างหรือบางที่ที่เราไปเราอาจจะพกพาความมั่นใจไปเต็มที่เลย แต่เราอาจจะแสดงบางอย่างออกมาที่มันไม่เหมาะไม่ควร ไม่ถูกต้องนุ่นก็จะคอยบอกให้คอยช่วยเหลือ ทำให้เราสบายใจ มีเมียไปด้วย (ยิ้ม) แล้วเขาก็จริงใจกับเรา เวลาจะพูดอะไรมันก็เชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

นอกจากจะได้ช่วยโลกใบนี้แล้ว ยังได้อะไรจากการทำตรงนี้ ?

ท็อป :  มันก็คือการได้ช่วยตัวเราเองครับ ต้องบอกก่อนว่าผมเลือกทำเกี่ยวกับเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อม ผมไม่ได้เริ่มต้นคิดจากการอยากจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ผมไม่ได้คิดใหญ่ หรือว่าดูเป็นคนดีขนาดนั้น แต่ผมคิดแค่ว่าผมได้ทำในสิ่งที่ผมชอบและผมสนใจ แล้วสิ่งที่ผมชอบมันกลายเป็นธุรกิจที่สามารถทำให้ผมเป็นอาชีพเลี้ยงผมเลี้ยงน้องๆ ที่อยู่ในบริษัทได้ รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดี และอยากให้ทุกคนคิดแบบนี้เหมือนกัน

นุ่น : ก็รู้สึกแบบเดียวกับท็อปค่ะ แล้วก็ยังรู้สึกว่าภูมิใจเล็กๆในสิ่งที่เราทำมันเป็นหนึ่งในการกระตุ้นให้คนอื่นเขาหันมาดูเรื่องนีด้วย คือเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานะที่คนรู้จัก สิ่งที่เรทำคนก็จะพูดถึงแหละอาจจะแบบทำอะไรกันอ่ะ แต่สุดท้ายสิ่งที่เราทำมันมีคนเห็น และบางอย่างมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นต่อไปได้ นุ่นชอบเวลาที่ท็อปไปบรรยายแล้วเขาบอกกับทุกคนว่าการกระทำแบบนี้มันเหมือนเป็นการโยนหินไปในน้ำแล้วหินกระเพื่อมขยายไปกว้างขึ้นๆ นุ่นรู้สึกว่าท็อปเขาเป็นตัวเริ่มต้น พอเขาหย่อนมาแล้วเขากระเพื่อมนุ่นเป้นวงที่สองที่รับต่อจากเขาแล้วเราก็ค่อยๆกระเพื่อมต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เวลามีน้องๆเจอนุ่นแล้วบอกว่าหนูชอบแฟนพี่มากเลย (หัวเราะ) พี่ท็อปเท่มากอะไรแบบนี้ ตอนแรกแอบตกใจ แต่จริงๆแล้วมันคือความภูมิใจในสิ่งที่ท็อปทำเพราะว่าอย่างน้อยเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำเราทำเพื่ออะไร

ค่าตอบแทนหรือ สิ่งที่ได้มามันคุ้มกับที่เราทำมากน้อยแค่ไหน ?

ท็อป :  ผมรวยนะ…ผมรวยมากกว่าคนอื่นด้วย (ยิ้ม) ที่บอกว่าผมรวยมากกว่าคนอื่นก็เพราะว่าผมได้ทั้งเงิน ได้เรื่องเกี่ยวกับสังคม ผมได้เรื่องสิ่งแวดล้อม ผมรวยสามเด้งเลย ผมมีเพื่อนมากขึ้นรู้จักคนมากขึ้นจากการทำตรงนี้ ถ้าเกิดวัดแล้วผมว่าผมได้หมดเลยนะ ผมรู้สึกว่าผมคุ้มค่ากับการลงทุน คนอื่นเขาอาจจะได้ในสิ่งที่เป็นตัวเลขยอดเงินที่มากขึ้นในบัญชัญชี แล้วพอวันนึงก็อยากที่จะมาช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่ว่าไม่ดีอันนี้คือดี แต่ผมก็ทำแบบนี้ตั้งแต่แรกเลย คือทำไปพร้อมๆกัน ผมอาจจะมีตัวเลขในบัญชีที่ไม่ได้มากมายขนาดว่าใช้จ่ายได้เต็มที่ขนาดนั้น แต่ผมก็รู้สึกว่าผมรวยในแบบที่ผมคิด

ราคาของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถ้าเทียบกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป ?

นุ่น : ไม่ได้แพงกว่าเสมอไปค่ะ ทุกอย่างมันแล้วแต่เลยค่ะ

ท็อป :  มีคนเข้าใจว่าแพงอยู่ครับ ทำไมรักษ์โลกต้องจ่ายแพง ประเด็นแรกต้องบอกว่านักออกแบบสามารถที่จะทำให้ของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยกระบวนการคิด ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราต้องลดวัตถุดิบกันการที่จะต้องใช้ผลิตสินค้าหนึ่งอย่างลง ต้นทุนก็จะลดลง ถ้าเราลดเรื่องการขนส่งจากเที่ยวหนึ่งไปได้สิบชิ้น ของมีสามสิบชิ้นต้องไปสามเที่ยว ออกแบบยังไงเพื่อให้ของสามสิบชิ้นมันพับๆ แล้วไปเที่ยวเดียวได้ ค่าน้ำมันในการขนส่งค่าคนมันก็จะลดลง สิ่งแวดล้อมอากาศมลพิษก็ลดน้อยลง ถ้าเกิดเราใช้แนวคิดนี้มันสามรถลดต้นทุนได้ ราคาที่เราจะตั้งมันก็สามารถที่จะตั้งในราคาที่ถูกลง หรือว่าเท่ากันเพื่อให้ตัวเลือกมันสูสีกันกับสินค้าปกติได้ อันนี้เป็นเรื่องที่บางทีเราต้องไปบรรยายให้เด็กๆ ฟังว่ามันทำได้

โปรเจ็กต์ที่อยากจะทำ ?

ท็อป :  มีหลายอย่างครับ ในวันนี้บริษัทเราพอมันโตขึ้นเป็นบริษัทเหมือนเป็น consult กลายเป็น agency บ้าง ถ้าเกิดบริษัทไหนอยากที่จะทำเรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เข้ามาคุยกับเราเข้ามาจ้างเราให้ไปทำงานด้วย วันนี้เราอยากจะสื่อสารคำว่า SE (Social Enterprise) หรือว่าธุรกิจเพื่อสังคม เพราะก่อนหน้านี้เวลาที่เราบอกว่าเราทำเพื่อสิ่งแวดล้อมคนก็จะมองว่าเราเป็นเหมือนมูลนิธิที่ทำฟรี หรือว่าทำในราคาถูกมาก เพราะว่าคุณมีใจในการทำดังนั้นคุณก็มาทำให้เราสิทำไมต้องคิดตังค์ด้วย ก็ต้องสื่อสารว่ามันเป็นไปไม่ได้ถ้าเกิดเราทำงานตามที่คุณต้องการทุกอย่างเลย แล้วถ้าเราไม่ได้มีรายรับมันก็เป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องแลกมาด้วย แต่เราทำให้คุณสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

สิ่งที่อยากจะบอกสำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Eco หรือคนที่อยากจะหันมาสนใจดูแลสิ่งแวดล้อม ?

ท็อป :  ผมว่านะตอนนี้เรามีความอยาก เราอยากได้เงิน เราอยากเหมือนจะได้รับการยอมรับ และอยากจะให้ทุกคนรู้สึกว่าเราก็เป็นคนดีนะ ผมว่า  Social Enterprise หรือว่าการทำอะไรที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม มันจะทำให้เราได้ทั้งสามอย่าง แต่มันต้องผ่านระยะเวลา ไม่ใช่ว่าพอเรานึกที่จะทำ เขียนโปรเจ็กต์แล้วทุกคนจะเห็นด้วยไปกับเรา มันต้องผ่านการเคี่ยวกรำมันต้องมีอุปสรรคต้องเจอปัญหา จนวันหนึ่งเราจะแข็งแรงขึ้นแล้วสามารถที่จะทำได้ ผมว่าทุกคนอยากจะได้รับข้อมูลการสื่อสารจากตัวจริง ดังนั้นถ้าวันนี้คุณอยากได้สามอย่าง และอยากเป็นตัวจริงคุณต้องผ่านระยะเวลาด้วย อย่าเพิ่งรีบร้อน แล้วความมั่นใจบางอย่างก็อาจจะต้องบารานซ์ให้ดีๆ ต้องฟังคนอื่นด้วยอย่าเพิ่งเชื่อมั่นในตัวเอง หาประสบการณ์ในการทำงาน ดู case study ต่างๆอย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ อย่าเพิ่งอ่านที่เขาแชร์ๆ กันเพียงไม่กี่บรรทัด แล้วผมอยากจะฝากอีกอย่างหนึ่งคือ เราเพิ่งทำหนังสือที่รวบรวมแนวความคิดอย่างที่บอกนี้ ทั้งในเรื่องของการทำเพื่อสังคม งานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามี case study ไทยและต่างประเทศรวบรวมมาให้ได้เห็นว่ามันมีคนทำแล้ว ถ้าใครที่ยังไม่ค่อยรู้จักหรือว่ารู้จักบ้าง แต่อยากจะรู้จักมากขึ้น หนังสือเล่มนี้มันน่าจะเป็นบันไดขั้นแรกได้ ชื่อหนังสือว่า ECO DESIGN THAI THAI สามารถเข้าไปดาวน์โหลดฟรีได้ ตอนนี้เราแปะอยู่ในเฟสบุ้คของ ECOSHOP common

ฝากถึงสำหรับคนที่คิดอยากจะรักษ์โลกใบนี้ ?

นุ่น :  นุ่นว่าง่ายๆ เลยค่ะ อย่าคิดอย่างนั้นเลย การที่เราจะเริ่มต้นทำเพื่ออย่างอื่นมันยาก ทำอะไรเพื่อตัวเราก่อน ทำอะไรเพื่ออะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นของของเรา เราจะใส่ใจตั้งใจทำกับมันแล้วก็จะทำแบบสม่ำเสมอ คือถ้าเราคิดว่าสิ่งแวดล้อมคือบ้านของเรา คิดว่าเราจะทำยังไงกับบ้านของเราเริ่มต้นจาก key word แคนี้ค่ะ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างกระบวนการทางความคิดมันจะมาเอง แต่ถ้าเกิดคิดว่าถ้าเราก้าวออกจากบ้านวันนี้เราจะทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ อย่างเก่งคงทำได้แค่ 2 วัน เพราะเราไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราต้องทะนุถนอม แต่แค่เปลี่ยนวิธีคิดว่านี่คือบ้านเรา และเราจะต้องอยู่ในบ้านไปจนตาย เราจะอยากอยู่บ้านแบบไหนก็ใช้ชีวิตแบบนั้น การกระทำมันเกิดจากความคิดข้างในค่ะ

ท็อป :  เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ภูมิใจจัง (ยิ้ม) แล้วก็ขอเสริมนิดนึงคือ นุ่นบอกว่าทำเพื่อบ้านมันเห็นภาพแล้วนอกจากทำเพื่อบ้านแล้ว เราก็ทำเพื่อตัวเราเองด้วย เพราะเรายังต้องมีชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ ผมอยากให้ทุกคนคิดว่าถ้าวันนี้เราอยากจะสุขภาพดี เราอยากจะแข็งแรง เราก็ปั่นจักรยาน เราก็วิ่ง ออกกำลังกาย กินอาหารเพื่อสุขภาพเรา แต่ในทางกลับกันคนที่สามารถปั่นจักรยานได้เขาก็จะได้ไม่ต้องขับรถใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติน้อยลงมลพิษน้อยลง เลือกที่จะเดินแทนการนั่งวิน แท็กซี่ หรือว่าเดินด้วยกำลังของเราเอง คราวนี้มันก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่เราเริ่มจากตัวเราก่อน ประหยัดน้ำประหยัดไฟในบ้านของเรา ก็ลดเงินที่ต้องจ่ายค่าสิ่งเหล่านี้ เรากินอาหารออแกนิกสุขภาพเราดีไม่เจอสารตกค้าง ดินมันดีจากการปลูกพืชออแกนิกที่มันไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง สิ่งแวดล้อมมันก็ดี สามารถชมผลงานสุดECO ของท็อปกับนุ่นได้ที่ www.kidkid.co.th



เมื่อการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และรักตัวเองด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องง่ายแค่นี้ เชื่อว่าหลายๆคนคงเริ่มที่จะใช้ชีวิตแบบ ECO เช่นคู่รักคู่นี้กันบ้างแล้ว